เช็คก่อนใช้! รวมเทคนิคสังเกตครีมเสื่อมสภาพ

โดย เภสัชกรประจำ choicechecker 21/01/2021

 

มองไปที่โต๊ะเครื่องแป้ง สะดุดกับสกินแคร์ที่เคยซื้อมาเมื่อปีที่แล้ว มือจะหยิบเอามาใช้ แต่ใจก็แอบลังเลว่ามันยังใช้ได้อยู่มั้ยนะ?

 

ใครอยู่แก๊งค์คนชอบซื้อเหมือนกันบ้างคะ? บ้าซื้อ “สกินแคร์” แล้วสุดท้ายก็ใช้ไม่หมด จะทิ้งก็เสียดาย “เก็บไว้ก่อนเดี๋ยวกลับมาใช้” หรือบางครั้งได้ใหม่ลืมเก่าก็มี พอจะมานั่งเก็บโต๊ะเครื่องแป้งทีก็ต้องมาปวดหัวว่า เอ๊ะ! มันเสื่อมสภาพหรือหมดอายุหรือยังนะ

 

มาทำความเข้าใจระหว่าง “เสื่อมสภาพ” กับ “หมดอายุ” ก่อนนะคะ สกินแคร์เสื่อมสภาพนั้นหมายถึงยังใช้สกินแคร์นั้น ๆ ได้อยู่ เพียงแต่สรรพคุณหรือคุณภาพอาจจะไม่เหมือนเดิม 100% ยิ่งถ้าปล่อยให้สกินแคร์เสื่อมสภาพเร็วก็อาจจะนำไปสู่การหมดอายุที่เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน และถ้าฝืนใช้สกินแคร์ที่หมดอายุก็อาจจะเสี่ยงกับปัญหาหน้าพังได้ด้วยค่ะ

 

และโดยปกติสกินแคร์ทั่วไปถ้ายังไม่ได้เปิดใช้งาน (shelf life) จะมีอายุ 3-5 ปีนับจากวันที่ผลิต แต่ถ้าเปิดใช้งานแล้วก็จะอยู่ได้ต่ำ ๆ ประมาณ 6 เดือน - 1 ปีครึ่งนับจากวันที่เปิดใช้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทและแบรนด์ด้วยนะคะ และสาเหตุที่สกินแคร์มีอายุอยู่ได้นานก็เพราะมีส่วนผสมอย่างสารกันเสียนั้นเอง

 

ครีมเสื่อม

 

“การเสื่อมสภาพของสกินแคร์นำไปสู่การหมดอายุที่เร็วขึ้น”

 

     ทฤษฎีทั้งหมดที่ว่ามานั้นก็ใช่ว่าจะเป๊ะ ๆ ไปสักทุกอย่างนะ บางครั้งสกินแคร์ที่เราซื้อมาก็อาจจะเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุก็เป็นได้ นั้นก็เพราะมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน อย่างเช่น

 

  • อุณหภูมิในการเก็บรักษา : เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้สกินแคร์เสื่อมสภาพเร็วขึ้น ควรเก็บรักษาสกินแคร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิห้องก็ได้ โดยเลี่ยงแสงแดด/ความร้อนจัด ๆ และไม่แนะนำให้เก็บในตู้เย็นนะคะ

  • เปิดฝาสกินแคร์ทิ้งไว้นาน : เพราะในอากาศมีทั้งความชื้นและเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเราเปิดใช้สกินแคร์และทิ้งไว้นาน ๆ ความชื้นและแบคทีเรียจะลงไปสัมผัสกับเนื้อของครีม เพราะฉะนั้นใช้เสร็จก็อย่าลืมรีบปิดกันนะคะ

  • ใช้นิ้วมือสัมผัสกับเนื้อผลิตภัณฑ์ : สาเหตุที่หลาย ๆ แบรนด์ให้ “ไม้พาย” สำหรับตักครีมมาด้วยนั้นก็เพราะว่านิ้วของเราบางครั้งก็อาจจะไม่ได้สะอาดเสมอไป และอุณหภูมิของเราก็อาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้สกินแคร์เสื่อมสภาพด้วยนั้นเอง


กว่าจะรู้ตัวว่าสกินแคร์เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้วนั้น ผลลัพธ์ของมันก็มาขึ้นอยู่บนหน้าของเราแล้วจ้า และเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ “หน้าพัง” เกิดขึ้น ChoiceChecker เลยมีเทคนิคในการสังเกตสกินแคร์ว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือยังมาฝากกันค่ะ

 

1. สกินแคร์ประเภทที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ประเภทนี้ก็จะแบ่งออกเป็น 2 จำพวกใหญ่ ๆ นั้นก็คือ..
 

  • จำพวกที่ 1 หนืดน้อย เหลวเหมือนน้ำ ได้แก่ คลีนซิ่งวอเตอร์ / โทนเนอร์ / โลชั่น / เอสเซ้นส์ (อายุการใช้งานอยู่ที่ 1 ปีนับจากวันที่เปิดใช้)

การสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำเริ่มเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง ให้ดูว่าสีของผลิตภัณฑ์เริ่มมีการเปลี่ยนไปมั้ย ตกตะกอน?หรือเปล่า (ถ้าแต่เดิมไม่มีการตกตะกอน) ถ้าบางตัวแต่เดิมมีสีขุ่นอยู่แล้วก็อาจจะต้องดูเรื่องของกลิ่นว่ายังคงเดิมเหมือนตอนที่ซื้อมาใหม่ ๆ หรือเปล่า และสำหรับโทนเนอร์ที่มีส่วนผสมของ AHAs/BHAs หรือวิตามินซี ก็ไม่ควรที่จะเก็บไว้นานเกินไปเพราะค่า pH Balance อาจมีการเปลี่ยนและอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ง่ายกว่าปกติค่ะ

 

  • จำพวกที่ 2 หนืดกลางถึงหนืดมาก ไม่เหลวเหมือนน้ำ ได้แก่ เซรั่ม / อิมัลชั่น / แอมพลู / เอสเซ้นส์ (อายุการใช้งานอยู่ที่ 1 ปี - 1 ปีครึ่งนับจากวันที่เปิดใช้)

จำพวกนี้จะมีหลากหลายเนื้อสัมผัส ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์เลยค่ะ วิธีการสังเกตสกินแคร์ประเภทนี้ว่าเสื่อมสภาพหรือว่าหมดอายุหรือไม่ ก็ดูได้จากกลิ่นที่เปลี่ยนไป แย่สุดก็คือเนื้อผลิตภัณฑ์มีการจับตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เนื้อสกินแคร์มีความสาก ความหนืดของสกินแคร์เปลี่ยนแปลงไป มีความเหลวขึ้น หรือหนืดขึ้น


2. สกินแคร์ประเภทเนื้อครีม โดยก็จะมีทั้งน้ำและน้ำมันเป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ครีมมอยเจอร์ไรเซอร์ / ครีมกันแดด (อายุการใช้งานอยู่ที่ 1 - 2 ปีนับจากวันที่เปิดใช้)

ประเภทของเนื้อครีมจะเป็นอะไรที่ดูง่ายที่สุด โดยสังเกตจากการแยกชั้นของเนื้อครีมกับน้ำมัน บางตัวอาจจะมีการเปลี่ยนสีหรือมีกลิ่นหืนร่วมด้วย แต่ทั้งนี้อย่างครีมกันแดดจะมีอายุการใช้งานที่น้อยกว่ากว่าครีมบำรุงทั่วไปนะคะ ประมาณ 6 เดือน - 1 ปี ไม่เกินนี้ เพราะถ้านานกว่านี้ประสิทธิภาพของสารป้องกันผิวจากแสงแดดอาจจะเสื่อมสภาพ ทำให้การปกป้องผิวทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพค่ะ

 

3. สกินแคร์ประเภทประเภทที่มีออยล์เป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ คลีนซิ่งออยล์ / เฟสออยล์

สกินแคร์ประเภทนี้จะมีส่วนผสมหลักเป็นน้ำมัน หรือ oil base ส่วนมากจะไม่มีส่วนผสมของสารกันเสีย เพราะเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราจะไม่ขึ้นในน้ำมันแต่จะขึ้นในที่ที่มีน้ำเป็นหลัก ทำให้อายุการใช้งานจึงน้อยกว่าประเภทที่มีส่วนผสมของน้ำเป็นหลักค่ะ (อายุการใช้งาน 9 เดือน -1 ปีเมื่อเปิดใช้แล้ว ) โดยวิธีการสังเกตก็คือกลิ่นที่เปลี่ยนไป อาจจะเริ่มมีการเหม็นหืน


อ่านถึงตรงนี้แล้วมีใครรีบไปหยิบสกินแคร์ของตัวเองมาดูตามบ้างเอ่ย? ก็หวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่ ChoiceChecker นำมาฝากในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ไม่มากก็น้อยนะคะ >..< ส่วนครั้งหน้าจะมีเรื่องราวอะไรมาแชร์กับเพื่อน ๆ อีกนั้นก็ฝากติดตามด้วยนะค้า สำหรับวันนี้ Byeeeee

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น


น่าใช้มากๆจ้า
12/07/2023 15:35
ขอบคุณที่มาแชร์ค่ะ
02/06/2023 16:11
ข้อมูลดีมากเลยค่ะ
14/03/2023 11:10
ข้อมูลน่าสนใจมากค่ะ
05/03/2023 00:15
บทความดีจังเลยค่ะได้ความรู้เพิ่มเยอะเลย
04/02/2023 11:11
ขอบคุณที่มาแชร์กันนะคะะ
09/01/2023 08:10
เป็นความรู้ที่ดีมากๆเลยค่ะ
06/11/2022 22:14
บทความดีมากเลยค่ะ
12/09/2022 05:23
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ
27/04/2022 06:32