ใช้เรตินอยด์ลดริ้วรอยตัวไหนดี?

โดย เภสัชกรประจำ choicechecker 15/08/2019

เคยได้ยิน สารที่ชื่อ “เรตินอยด์” ไหมคะ? ที่คุ้นเคยกันคงจะเป็นเรตินเอ (หลายท่าน อ๋อออ ขึ้นมาทันที รวมถึงตัวดิฉันเอง)
มีหลายชื่อเรียกต่างๆนานาแต่สรุปพวกเขาเหล่านั้นก็คือ“วิตามินเอ”นั่นแหละค่ะ หลักๆคือช่วยเรื่องลดสิว ผิวมัน และริ้วรอยบนหน้าได้! โอเอ็มจี แบบนี้ต้องไปจัดเสียชุดใหญ่ (กำลังเลื่อนนิ้วไปคลิกเว็บช็อปปิ้งออนไลน์ 3 2 1..) แต่ช้าก่อน! มีข้อควรระวังในการใช้ เพื่อความผิวหน้าสุขภาพดีของชาว ChoiceChecker เราจึงควรมีความรู้เล็กๆน้อยๆมาฝาก 

 

เรตินอยด์

 

เรตินอยด์(Retinoids) คืออะไร?

ก่อนอื่นขอให้เข้าใจว่า เรตินอยด์คือคำหลัก ที่กล่าวรวมถึงวิตามินเอ และ อนุพันธ์ของวิตามินเอทั้งหมด (อนุพันธ์วิตามินเอ คือวิตามินเอที่แปลงร่างมาแล้ว ก็เพื่อให้การแทรกซึมเข้าสู่ผิวดีขึ้น) ซึ่งเรตินอยด์หรืออนุพันธ์วิตามินเอนั้นมีหลายชนิดค่ะ ประกอบด้วย

 

  1. เรติโนอิกแอซิด (Retinoic acid) หรือกรดวิตามินเอนั่นเอง เป็นรูปแบบที่จะแสดงแสนยานุภาพในการช่วยปัญหาผิวของเรา แต่มักไม่นำมาใช้ในเครื่องสำอาง จึงต้องไปพบหมอให้คุณหมอสั่งให้เท่านั้น สาเหตุก็เพราะทำให้ผิวแห้งและออกฤทธิ์ระคายเคืองผิว(อย่างค่อนข้างรุนแรงเลยค่ะ)

  2. เรตินาลดีไฮด์ (Retinaldehyde) 

  3. เรตินาลเอสเทอร์ (Retinyl esters) เช่น Retinol palmitate, Hydroxypinacolone Retinoate, Retinyl Linoleate

  4. เรตินอล (Retinol) 

 

คุณอนุพันธ์วิตามินเอในข้อ 2,3,4 นั้นแทรกซึมผ่านเข้าสูผิวได้เช่นเดียวกันกับคุณข้อ1ค่ะ  เพราะพวกเธอได้แปลงร่างแล้ว แถมยังระคายเคืองน้อยกว่าคุณข้อ1ด้วยค่ะ โดยกระบวนการคือคุณข้อ2,3,4สุดท้ายแล้วก็จะเปลี่ยนกลับมาเป็นเรติโนอิกแอซิดหรือคุณข้อ 1 เหมือนเดิม เพื่อออกฤทธิ์ในการลดริ้วรอยได้เหมือนกันค่ะ (ยกเว้นแต่คุณ Hydroxypinacolone Retinoate ที่เขาว่ากันว่าคุณเขาออกฤทธิ์ทั้งแบบนั้นเลยไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้เหนื่อยใจ)

 

•สรุปตรงนี้คือคุณข้อ 1ออกฤทธิ์ได้เลยแต่ระคายเคืองผิวกว่า ส่วนคุณข้อ 2,3,4 เวลาออกฤทธิ์ต้องเปลี่ยนกลับไปเป็นคุณข้อ 1 ก่อนค่ะ หากแต่แทรกซึมลงผิวได้ดีกว่า และก็ระคายเคืองน้อยกว่าค่ะ

 

เรตินอยด์

 

Sunday Riley Luna Sleeping Night Oil  

เรตินอยด์ที่  Sunday Rileyใช้คือเป็นประเภทเรตินาลเอสเทอร์ที่มีชื่อว่า Hydroxypinacolone Retinoate เป็นวิตามินเอตัวปรับปรุงล่าสุดที่มีรายงานว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกลับไปเป็นตัว เรติโนอิกแอซิด(Retinoic acid) เพื่อแสดงฤทธิ์เดช เพราะคุณนางเขาทำงานในรูปแบบนี้ได้เลยนั่นเองค่ะ

 

ลักษณะเนื้อสัมผัส:  เป็นน้ำมันบางเบาสีน้ำเงิน บางเบาชนิดที่ว่า ทาแล้วรู้สึกได้เลยว่าซึมเข้าสู่ผิวอย่างรวดเร็ว หากยังรู้สึกเหมือนเป็นฟิล์มน้ำมันเคลือบผิวด้านบนเล็กน้อย (ตามธรรมชาติของน้ำมันนั่นแหละค่ะ) คุณประโยชน์ของคุณคนนี้นั้น ช่วยลดทั้งความแห้งหยาบกร้าน แถมยังบรรเทาอาการระคายเคืองได้ดีมากๆด้วย คงถูกใจชาวผิวแห้งและผิวอ่อนแอไม่น้อย เพียงแค่ผิวแพ้ง่ายอาจจะต้องระวังนิดนึงเรื่องน้ำหอมค่ะ เพราะตัวคุณเขามีกลิ่นเฉพาะตัวที่ค่อนข้างชัดเจน

 

เรตินอยด์ที่ใช้ : เรตินาลเอสเทอร์ ชนิด Hydroxypinacolone Retinoate 

สารเพิ่มความนุ่มลื่นแก่ผิว ลดความหยาบกร้าน: น้ำมันอโวคาโดสกัดเย็นและน้ำมันเมล็ดองุ่น (Avocado and Grape seed oil), ออยล์คอมเพล็กซ์ (ออยล์ธรรมชาติอีกประมาณ10ตัว เช่น น้ำมันสกัดดอกคาโมมายล์), สารสกัดใบโรสแมร์รี่ (Rosemary leaf extract)

สารช่วยเพิ่มการแทรกซึมผ่านผิว: ไดเม็ทธิลไอโซซอร์ไบด์ (Dimethyl Isosorbide)

สารลดการอักเสบของผิว: บลูแทนซี่ออยล์ หนึ่งในออยล์คอมเพล็กซ์ (Blue Tansy oil)

 

เรตินอยด์_the ordinary

 

The Ordinary Advanced retinoids 2%

คุณออร์ดินารีที่หลายๆคนคุ้นเคยกันดี มีส่วนผสมของเรตินอยด์ถึงถึง 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ เรตินอล(Retinol)  และเรตินาลเอสเตอร์ (Hydroxypinacolone Retinoate ) (เรียกว่าช่วยกันทำงานเต็มที่หวังจะเอาให้รอยเหี่ยวอยู่แบบเงียบๆแล้วหายตัวออกไปอย่างอับอาย)

 

ลักษณะเนื้อสัมผัส: เป็นเนื้อครีมสีเหลืองไข่ค่อนข้างบางเบาคล้ายน้ำนม มีกลิ่นอ่อนๆ ทาแล้วซึมดีมากค่ะ 

 

เรตินอยด์ที่ใช้ :  เรตินอล (Retinol), เรตินาลเอสเทอร์ (Hydroxypinacolone Retinoate)

สารกักเก็บความชุ่มชื้น: กลีเซอรีน (Glycerin), โพรพานีไดออล (Propanediol)

สารบรรเทาการระคายเคือง: สารสกัดจากดอกคาโมมายล์ (Chamomile extract), สารสกัดจากแทสมาเนียแลนซีโอลาตา (Tasmannia Lanceolata extract)

สารเพิ่มความนุ่มลื่นแก่ผิว ลดความหยาบกร้าน: เอ็ธธิล ไลโนลีเอต (Ethyl Linoleate), คาพรีลิคแอซิด (Caprylic Triglyceride), ซีเทียเร็ธ (Ceteareth-12/20)


 

 

La Roche Posay Redermic [R] Anti-Aging Treatment-Intensive

ลาโรชโพเซย์อันลือเลื่องเรื่องความอ่อนโยนต่อผิวแพ้ง่าย ผนึกกำลังของเรตินอยด์ 2 ชนิด ทั้งเรตินอล (Retinol) และ เรตินาลเอสเทอร์ (RETINYL LINOLEATE) เพื่อมาช่วยกอบกู้ความเด้งดึ๋งตึงเปรี๊ยะของใบหน้าให้กลับมาอีกครั้ง เนื้อของคุณเขาเป็นครีมสีเหลืองไข่แบบบางเบา ซึมค่อนข้างเร็วแต่ยังรู้สึกถึงเนื้อครีมที่ค้างอยู่บนผิวหน้าเล็กน้อย ดังนั้นระวังแนวโน้มที่จะอุดตันโดยเฉพาะท่านที่มีผิวมัน มีกลิ่นเบาๆด้วยค่ะ คุณคนนี้ช่วยในเรื่องชุ่มชื่น เรียบเรียน ลดรอย โดยนอกจากเรตินอยด์ทั้ง 2 ชนิดที่ใส่มาแล้ว ยังมีอะดีโนซิน(Adenosine)ที่เติมความชุ่มชื้นจึงสามารถสนับสนุนกันให้ชะลอริ้วรอยได้ด้วยค่ะ

 

ลักษณะนื้อสัมผัส: เป็นครีมสีเหลืองไข่แบบบางเบา ซึมค่อนข้างเร็วแต่ยังรู้สึกถึงเนื้อครีมที่ค้างอยู่บนผิวหน้าเล็กน้อย

 

เรตินอยด์ที่ใช้ :  เรตินอล (Retinol), เรตินาลเอสเทอร์ (RETINYL LINOLEATE)

สารกักเก็บความชุ่มชื้น: กลีเซอรีน (Glycerin), โพรพิลีน ไกลคอล (Propylene glycol), โซเดียมไฮยาลูรอเนต (Sodium Hyaluronate), คาพรีลิลไกลคอล (Caprylyl Glycol), อดีโนซีน (Adenosine)

สารเพิ่มความนุ่มลื่นแก่ผิว ลดความหยาบกร้าน: น้ำมันถั่วเหลือง (soy bean oil)

สารผลัดเซลล์ผิว: คาพริคแอซิด (Capric salicylic acid)

 

เรตินอยด์
 

ข้อควรระวังในการใช้ 

ความเข้มข้นสูง (เปอร์เซ็นต์เยอะๆ) ยิ่งเยอะยิ่งแรงก็ใช่ว่าจะดีนะคะ เพราะดีที่สุดคือควรเริ่มทาจากปริมาณน้อย และทาอย่างสม่ำเสมอ เหมือนการออกกำลังกายที่ไม่ควรหักโหมจนทำร้ายร่างกาย ผลลัพธ์อาจจะต้องอดทนรอหน่อยเหมือนการรอผลลัพธ์จากการออกกำลังกายเช่นกัน และหากเพิ่งเริ่มใช้ ควรใช้เฉพาะตอนกลางคืน และตอนเช้าต้องทาครีมกันแดด อีกอย่างคือสตรีมีครรภ์หรือที่คิดว่าจะมีครรภ์ ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มเรตินอยด์เป็นอันขาดค่ะ (ปลอดภัยไว้ก่อน)

 

สรุปอีกครั้งโดย ChoiceChecker

1. แทรกซึมเข้าสู่ผิวได้ดี เน้นในเรื่องของการลดเลือนริ้วรอยแน่นๆ ยกให้ The Ordinary และ Laroch Posay 

2. ปลอบประโลมผิว ลดความหยาบกร้าน เป็นมิตรกับผิว ยกให้ Luna sleeping oil (สองตัวบนก็ชุ่มชื้นเหมือนกันแต่น้อยกว่า)

หมายเหตุ: ริ้วรอยจะดีขึ้นหรือไม่นั้น ไม่ควรหวังพึงจากสกินแคร์ได้อย่างเดียวนะคะ เพราะการดูแลร่างกายจากภายใจควบคู่กันไปด้วย ก็สำคัญกับการชะลอริ้วรอยเช่นกันค่ะ

 



Refernece

  • Siddharth Mukherjee, Abhijit Date, and Günther Weindl. “Retinoids in the treatment of skin aging: an overview of clinical efficacy and safety”. Clin Interv Aging. 2006 Dec; 1(4): 327–348.
  • Kong R, et al. “A comparative study of the effects of retinol and retinoic acid on histological, molecular, and clinical properties of human skin”. J Cosmet Dermatol. 2016 Mar;15(1):49-57. 
  • Kajal Babamiri, MD, Reza Nassab, MBChB, MBA, MRCSEd, MRCSEng. “The Evidence Behind the Retinoids”.Aesthetic Surgery J, Vol 30, Jan 2010(1):74–77

 


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น


น่าสนใจมากๆค่ะ
08/11/2023 22:56
ต้องลองใช้แล้วค่าา
06/02/2023 07:45
ต้องใช้จากเปอเซนต์น้อยๆก่อนใช่มั้ยคะ จะลองทำตามดูค่ะ
04/02/2023 08:33
ตามค่าา กำลังหาretinolดีๆซักตัวใช้งับ
02/02/2023 07:09
น่าใช้มากๆเลยค่า
12/10/2022 11:51
ขอบคุณสำหรับสาระดีดีค่าา
13/09/2022 15:23
น่าสนใจมากก
17/08/2022 08:59
ว้าว น่าลองมากค่า
24/04/2022 09:29