“คุมยังไงให้แฮปปี้” สุขสันต์วันคุมกำเนิดโลก

โดย เภสัชกรประจำ choicechecker 25/09/2021

วันสุขสันต์วันคุมกำเนิดโลก ทุกวันที่ 26 กันยายนของทุกปี เป็นวันคุมกำเนิดโลก

เราขอชวนคุยเรื่อง ‘ยาคุม’ พร้อมตอบคำถามคาใจที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดอยู่ แต่ยังไม่รู้ตัว! 

 

  • รู้หรือไม่ว่า ในแต่ละปีคาดว่ามีการทำแท้งสูงถึง 300,000 คนต่อปี (ประมาณ 1,000 คนต่อวัน)

  • รู้หรือไม่ว่า 60% ของนักเรียนหญิงใช้ยาคุมฉุกเฉินเกิน 4 ครั้งต่อเดือน(อาจเป็นอันตรายได้)

  • รู้หรือไม่ว่า ยาฆ่าเชื้อบางประเภท เช่น ยาฆ่าเชื้อสิวอาจจะลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิดได้

  • รู้หรือไม่ว่า เลือกยาคุมได้ดี ส่งผลดีๆต่อคุณภาพชีวิต ทั้งเรื่องน้ำหนักตัว เรื่องสิวและผิวพรรณ

 

ChoiceChecker ร่วมกิจกรรมโครงการ  #สุขสันต์วันคุมกำเนิดโลก2564 ขอเป็นส่วนนึงในการให้ความรู้เรื่องยาคุมกำเนิด โดยเภสัชกร ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพราะฉะนั้นครั้งนี้ ขอใช้คำอธิบายแบบเป็นทางการกว่าปกติ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนค่ะ

 

ยาคุมกำเนิด

 

➢ เคยสงสัยไหมคะว่ายาคุมกำเนิดทำงานยังไง ทำอะไรกับร่างกายของเรา? 

ในยาคุม 1 เม็ด มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศ มี 2 ชนิดคือ เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน 
แต่ไม่ต้องกังวลนะ นี่คือฮอร์โมนชนิดเดียวกันกับที่อยู่ในร่างกายในช่วงที่สาวๆเป็นเมนส์นั่นเองค่ะ ปกติแล้วช่วงที่มีรอบเดือน เจ้าฮอร์โมนเอสโตรเจน  จะมาก่อนในช่วงแรกก่อนการตกไข่ หลังจากนั้นเป็นคิวของ เจ้าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ออกมาทำให้ผนังมดลูกหนาขึ้น เส้นเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น สร้างบ้านที่พร้อมให้ไข่ฝังตัวได้ แต่การทำงานของยาคุมกำเนิดจะส่งฮอร์โมน 2 ชนิดเข้าไปพร้อมกัน ทำให้สภาพมดลูกไม่พร้อมที่จะสร้างไข่ และไม่พร้อมที่จะให้ไข่กับอสุจิมาเจอกัน

 


ยาคุมกำเนิด

 

➢ แล้วการทานยาคุมกำเนิดมีผลเสียอะไรไหม?

หลายคนแอบบ่นว่า ทานยาคุมแล้วน้ำหนักขึ้น สิวเห่อ ปวดไมเกรน ประจำเดือนมากระปริบกระปรอย รู้สึกพะอืดพะอม 

ถ้าเราดั๊นนนน ไปใช้ฮอร์โมนที่ไม่เหมาะสมกับตัวเราเข้า อาการข้างเคียงเหล่านี้ก็อาจเจอได้     ..แต่ไม่ต้องห่วง  แพทย์หรือเภสัชกรเขาจะช่วยเลือกชนิดและระดับฮอร์โมนที่เหมาะสมให้เรา  เพื่อหลีกเลี่ยงได้จ้ะ

 

➢ เทคนิคเลือกยาคุมกำเนิดได้ตรงใจ ช่วยเลี่ยงผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการได้ด้วย

#สายห่วงสวย สำหรับคนที่กังวลเกี่ยวกับปัญหาสิวเห่อ ไม่อยากหน้ามันเยิ้ม | เหมาะกับยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวม ที่มีส่วนผสมของโปรเจสเตอโรนรุ่นใหม่ กับเอสโตรเจนขนาด 30 ไมโครกรัม

#สายห่วงหุ่น กังวลเรื่องน้ำหนัก ไม่อยากดูตัวบวมน้ำ เอวคับขึ้น |

เหมาะกับยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวม ที่มีส่วนผสมของโปรเจสเตอโรนรุ่นใหม่ กับเอสโตรเจนขนาด 20 ไมโครกรัม

#สายหลายห่วง ไม่อยากกังวลเรื่องโรคหลอดเลือดและอาการปวดไมเกรนแสนทรมาน | แนะนำยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนชนิดเดียว

 

ยาคุมกำเนิด

 

➢ ยาคุมแบบรายเดือน ต่างกับ ยาคุมฉุกเฉิน ยังไง? 

ยาคุมกำเนิดชนิดทาน ที่คุ้นเคยกันมี 2 รูปแบบ คือ ยาคุมแบบรายเดือน  และ ยาคุมฉุกเฉิน (แบบทานครั้งเดียว) ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาคุมที่มีข้อบ่งใช้ สำหรับในหญิงที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องการเท่านั้น เช่น ถูกข่มขืน มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ ไม่เต็มใจ หรือมีความผิดพลาดจากวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้อยู่ ในเม็ดยาคุมฉุกเฉินจึงมีปริมาณฮอร์โมนสูงกว่ายาคุมทั่วไป จึงอาจพบผลข้างเคียงได้มากกว่าและในบางกรณีอาจรุนแรง เช่น ภาวะท้องนอกมดลูก  ไม่ควรทานเกิน 2 ครั้งต่อเดือน ที่สำคัญคือประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดยังน้อยกว่ายาคุมแบบรายเดือน เสียอีก 
ดังนั้น ถ้าอยากได้ประสิทธิภาพสูงแต่โอกาสเกิดผลข้างเคียงต่ำกว่า ลองพิจารณาเป็นยาคุมแบบรายเดือนค่ะ


ยาคุมกำเนิด

 

➢ ช่วงตอบคำถามคาใจ ‘ยาคุม & เรื่องผิวๆ’ ที่มีคนถามกันเข้ามามากที่สุด

■ อยากหน้าใส ทานยาคุมรักษาสิวได้ไหม แล้วทานกลุ่มไหนดี?

ทานได้ค่ะ แต่แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเลยจ้า   เพราะมียาคุมบางชนิดที่คุมกำเนิดดี และลดผลข้างเคียงจากสิวได้  แถมยังช่วยคุมรอบเดือนได้ดีอีกตะหาก เริ่ดมาก

■ รักษาสิวอยู่ หมอให้ทานยาฆ่าเชื้อสิวมาใช้ แล้วจะทานยาคุมได้ไหม? 

มีผลกระทบบ้างค่ะ ยาฆ่าเชื้อบางชนิดอาจจะขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนในยาคุม แต่หลักฐานเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นยังทานร่วมกันได้อยู่นะ แต่ไม่ควรทานพร้อมกัน อย่าลืมปรึกษาเภสัชกรนะคะ



ผู้หญิงแต่ละคน มีการตอบสนองต่อยาคุมแตกต่างกัน  แต่สิ่งที่ชัดเจนแน่นอนคือ ยาคุมแบบรายเดือน  ถ้าใช้ถูกวิธีจะมีประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงน้อยกว่ายาคุมฉุกเฉิน แถมยังหาซื้อทานง่ายในราคาที่จับต้องได้จริง แต่ก็ไม่ควรใช้เองแบบสุ่มสี่สุ่มห้านะจ๊ะ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวยาให้เคลียร์ด้วยการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้านค่ะ

 

Reference

ผลสำรวจเกี่ยวกับยาคุมกำเนิดในวัยเรียน

จดหมายข่าวศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังระบบยา - ยาผู้หญิง, ยาวิพากษ์ ปีที่ 3 ฉบับ 8 

http://www.thaidrugwatch.org/download/series/series08.pdf

สายห่วงสวย- ไม่อยากเป็นสิว หน้ามัน

P. Bilotta and S. Favilli, p.933.; Clinical Evaluation of a Monophasic Ethinylestradiol / Desogestrel-containing Oral Contraceptive.

C. Charoenvisal, et al., p.426-427.; Effect on Acne of Two oral Contraceptives Containing Desogestrel and Cyproterone Acetate, (1996).

สายห่วงหุ่น - ไม่อยากดูตัวบวมน้ำ เอวคับ

Jaisamrarn, J Med Assoc Thai, p.380-381.; Clinical Study of a Monophasic Pill Containing 20 μg Ethinylestradiol and 150 μg Desogestrel in Thai Women, (2001).

สายหลายห่วง - ไม่อยากกังวลปัญหาสุขภาพ

World Health Organization.; Medical eligibility criteria for contraceptive use, (2015).

งานวิจัยเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน

Celia M. J. Matyangacorresponding and Blessing Dzingirai - Clinical Pharmacology of Hormonal Emergency Contraceptive Pills, (October 2018).

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6193352/

กลไกการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนต่างๆ

https://www.bmj.com/content/354/bmj.i4345/rr-5

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430882/#:~:text=The%20 progesterone%20is%20primarily%20 responsible,frequency%20of%20gonadotropin%20releasing%20hormone

ตัวอย่างรายชื่อฮอร์โมนแอสโตรเจน

PhD. Debra Fulghum Bruce - Normal Testosterone and Estrogen Levels in Women, (November 2020).

https://www.webmd.com/women/guide/normal-testosterone-and-estrogen-levels-in-women

ตัวอย่างรายชื่อฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

J.A. Guerra et al., Journal of Experimental and Clinical Medicine, p.52.; Progestins in Combined Contraceptives, (2013).

งานวิจัยผลกระทบการใช้ยาฆ่าเชื้อร่วมกับยาคุมกำเนิด

G.G. Zhanel, et al. - Antibiotic and oral contraceptive drug interactions: Is there a need for concern?, (1999).

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3250726/

FSRH - Clinical Guidance: Drug Interactions with Hormonal Contraception, (2017).

https://www.fsrh.org/documents/ceu-clinical-guidance-drug-interactions-with-hormonal/fsrh-guidance-drug-interactions-hormonal-contraception-jan-2019.pdf

Danielle B. Cooper, et al. - Oral Contraceptive Pills, (July 2021).

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430882/


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น


ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยค่ะ
17/03/2023 00:45