สรุปคัมภีร์ Microbiome: จุลินทรีย์ในสกินแคร์!

โดย เภสัชกรประจำ choicechecker 15/06/2020

เทรนด์ที่กำลังมาแรงของสกินแคร์ยุคนี้จะเป็นอะไรไม่ได้นอกจาก Microbiome หรือไม่ก็ Probiotic บ้างล่ะ ได้ยินแว๊บๆ ว่ามันคือแบคทีเรียหรือยีสต์ แล้วเราจะกล้าเอาตัวอะไรพวกเนี้ยมาปล่อยบนผิวจริงๆ หรอคะ? ปลอดภัยแน่ป่าว พวกเราจะไม่เป็นไรใช่มั้ย? 

 

Microbiome คืออะไร

ผิว’ เป็นเกราะปกป้องอวัยวะในร่างกายจากการบุกรุกของเชื้อโรคหรือสารพิษที่ไม่หวังดี และถ้าซูมให้ลึกลงไปจะเห็นว่าในทุกอณูของผิวและร่างกายเรามีสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วอาศัยอยู่ แค่มองไม่เห็นด้วยตาที่เรียกว่า Microbiome (ไมโครไบโอม) ซึ่งเป็นชื่อเรียกรวมๆ ของจุลินทรีย์ได้แก่แบคทีเรีย รา ไวรัสทั้งที่มีและไม่มีประโยชน์กับเรา แล้วก็ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่นะ แต่มีการพึ่งพาอาศัยกันและก็พึ่งพากับผิวเราด้วย ไมโครไบโอมบนผิวรับบทบาทสำคัญในการยับยั้งการก่อตัวของเชื้อโรคที่พยายามจะบุกเข้ามา คอยเป็นเทรนเนอร์ให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรงขึ้น ป้องกันการแพ้และการอักเสบต่างๆ และรู้หรือไม่ว่าไมโครไบโอมของพวกเราแต่ละคนมีจำนวนก็ไม่เท่ากัน มีความเฉพาะตัวของใครของมันเหมือนกับเป็นลายนิ้วมือเลยค่ะ แต่จำนวนของเค้าเปลี่ยนได้เรื่อยๆ นะ ส่วนใหญ่จะลดลงตามมลภาวะที่เจอ อายุ ฮอร์โมน หรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

 

ถ้าไมโครไบโอมเหล่านี้อยู่ร่วมบนผิวเราอย่างสมดุลก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อไหร่ที่ดูแลร่างกายไม่ดี พวกนางจะค่อยๆ ลดจำนวนลงหรือมีชนิดใดชนิดหนึ่งเด่นขึ้นมา ทำให้ผิวของเราก็อ่อนแอลง เกิดปัญหาผิวต่างๆตามมา เช่นสิว ผดผื่นคัน หรือแม้แต่โรคผิวหนังหลายๆ ชนิดเลยล่ะ

 

ล้วทำไมสกินแคร์หลายแบรนด์ถึงต้องแคร์สิ่งมีชีวิตเล็กๆ พวกนี้? 

เพราะไมโครไบโอมเป็นอีกทางสำคัญที่จะช่วยทำให้ผิวแข็งแรง อยากให้เลิกมองว่าไมโครไบโอมคือผู้ร้ายอย่างเดียว เป็นแค่เชื้อโรคที่ต้องฆ่าเชื้อให้เกลี้ยง ทั้งที่จริงๆ แล้วการคลีนเกินไปกลับทำให้เราอ่อนแอลง เปลี่ยนมารักษาสมดุลระหว่างผิวของเรากับไมโครไบโอมดีกว่าค่ะ ซึ่งคือหัวใจสำคัญของ Skin Wellbeing คอนเซปใหม่ของผิวเฮลท์ตี้อย่างแท้ทรู

 

ไมโครไบโอม

 

แล้วตกลงในสกินแคร์เค้าใส่แบคทีเรียหรือยีสต์มีชีวิตจริงๆ มาเลยหรือเปล่า?

Microbiome หรือ Probiotic Skincare เป็นคำที่อาจทำให้ผู้บริโภคแบบเราเข้าใจผิด คิดว่าเค้าใส่จุลินทรีย์ตัวเป็นๆ เข้ามาในสกินแคร์ได้จริง และหวังให้มันไปเจริญเติบโตบนผิวเราได้ (Probiotic เป็นชื่อเรียกของจุลินทรีย์ชนิดที่ดีต่อร่างกาย) 

 

ดังนั้นคำตอบก็คือ ยังเป็นไปได้ยากอยู่ค่ะ ด้วยข้อจำกัดของการทำสกินแคร์ที่ไม่สามารถบรรจุสิ่งมีชีวิตไว้ได้ แค่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองยังยากเลย กว่าจะผ่านกระบวนการผลิตอีกไม่รู้จะเหลือรอดสักเท่าไร และทางแบรนด์ก็ไม่ได้อยากให้มีสิ่งมีชีวิตในนั้นหรอก ไม่งั้นอายุการใช้งานมันอาจจะสั้นมาก (เค้าถึงใส่สารกันบูด หรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่ลดการสัมผัสแสงหรืออากาศไง) หรือถึงจะใส่จุลินทรีย์ในสกินแคร์ได้จริง ก็ยังไม่รู้ว่าใส่เท่าไรถึงพอดีหรือปลอดภัย และไม่ชัวร์ว่าตัวที่เติมไปเหมาะกับผิวเราจริงมั้ย? เพราะยังไม่หลักฐานที่ฟันธงว่า ไมโครไบโอมตัวไหนดี-ร้าย งานวิจัยเรื่องนี้ยังถือว่าใหม่อยู่ ข้อมูลยังไม่นิ่งพอ

 

งั้นที่อยู่ในสกินแคร์คืออะไร? ความจริงแล้วเค้าใช้ส่วนผสมที่ผ่านการหมักด้วย ไมโครไบโอมหรือใช้สารที่สกัดมาจากยีสต์หรือแบคทีเรีย ถามว่าส่วนผสมแบบนี้มีประโยชน์กับผิวมั้ย? ก็ตอบเลยว่าเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์กับผิวได้ เช่น บางชนิดเป็น Antioxidant บางชนิดลดการอักเสบหรือระคายเคือง ไว้เด๋วจะมาพูดต่อในหัวข้อถัดๆไปนะคะ

ถ้าอยากเติมสารอาหารผิวจากจุลินทรีย์ตัวน้อยบ้าง เราจัดให้! ข้อมูลส่วนผสมทั้งหมดนี้เราอ้างอิงมาจากฉลากของผลิตภัณฑ์เค้านะคะ นี่คือแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดและเข้าถึงได้ง่ายสุดสำหรับผู้บริโภคแล้วอ่ะเนอะ

 

สกินแคร์ที่มีส่วนผสม Vitreoscilla Filiformis Extract ได้แก่

Biotherm Life Plankton™ Essence

La Roche-Posay Lipikar Balm AP+ Intense Repair Body Cream

 

สกินแคร์ที่มีส่วนผสม  Faex (Yeast) Extract ได้แก่

Lancome Advanced Génifique Serum

Ren Clean Skincare Keep Young And Beautiful Firming and Smoothing Serum

 

สกินแคร์ที่มีส่วนผสม Bifida Ferment Lysate ได้แก่

Lancome Advanced Génifique Serum

Estee lauder Advanced Night Repair Synchronized Recovery Complex

Graymelin Bifida Fermentation Serum

L’Oreal Paris Youth Code Skin Activating Ferment Pre-Essence

Missha Time Revolution The First Treatment Essence Intensive

 

สกินแคร์ที่มีส่วนผสม Galactomyces Ferment Filtrate ได้แก่

SK-II Facial Treatment Essence

Graymelin Galactomyces Ferment Filtrate Serum

 

สกินแคร์ที่มีส่วนผสม Saccharomyces Ferment Filtrate ได้แก่

Missha Time Revolution The First Treatment Essence Intensive

 

รีวิวสกินแคร์

 

Note : ศัพท์ใหม่มาอีกแล้ว Extract, Lysate, Filtrate คืออะไรบ้างอะ? 

Lysate เป็นการเอาจุลินทรีย์ไปผ่านกระบวนการต่างๆ ทำให้เชื้อนั้นสลายตัวเพื่อเก็บสารต่างๆ ที่อยู่ในนั้น

Extract คือสารที่ได้จากการสกัดส่วนผสมนั้น อาจจะมีได้หลากหลายชนิด เช่น ในสารสกัดจากดอกคาโมมายล์ 1 ดอก มีทั้งสารช่วยลดอักเสบ สารให้ความชุ่มชุ่ม และอื่นๆ เป็นต้น

Filtrate เป็นน้ำหมักยีสต์ที่ผ่านการกรอง คล้ายๆ การผลิตเบียร์ คือเอาข้าวผสมกับน้ำแล้วหมักด้วยยีสต์ จากนั้นกรองออกมาเหลือแต่น้ำใสๆ ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์

 

วิธีอ่านชื่อส่วนผสม microbiome ตัวอย่างเช่น 

  • Vitreoscilla Filiformis Extract 

Vitreoscilla Filiformis คือชื่อชนิดของแบคทีเรีย

Extract (สารสกัด) คือประเภทของส่วนผสม 

  •  Faex (Yeast) Extract 

Faex/Yeast หมายถึงยีสต์

Extract (สารที่สกัดจากยีสต์) คือประเภทของส่วนผสม 

  • Bifida Ferment Lysate

Bifidobacterium longum คือชื่อชนิดของแบคทีเรีย

Lysate คือประเภทของส่วนผสม 

  • Galactomyces Ferment Filtrate

Galactomyces คือชื่อชนิดของยีสต์

Filtrate คือประเภทของส่วนผสม 

  • Saccharomyces Ferment Filtrate

Saccharomyces คือชื่อชนิดของยีสต์

Filtrate คือประเภทของส่วนผสม 

 


 

สรุปส่งท้าย...

จากโปรดักส์ที่เอามาให้ดูจะเห็นว่าหลายแบรนด์ก็ใส่เหมือนๆ กัน แล้วคุณภาพของสารสกัดแต่ละตัวเหมือนกันมั้ย? ตอบเลยว่า ไม่เหมือนอยู่แล้วค่ะ แต่ละบริษัทเค้าก็มีเทคโนโลยีการผลิตเฉพาะตัวที่ทำให้การได้มาของเจ้าจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่เหมือนกัน

 

ในฐานะผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่ได้ทำงานคลุกวงในบริษัทเหล่านี้จะไปรู้ได้ยังไงว่าเค้าไปเอามาจากไหน? ทำยังไง? สิ่งเดียวที่รู้ได้ หรือประมาณการได้คร่าวๆ คือข้อมูลบนฉลาก อย่าว่าแต่ส่วนผสมไมโครไบโอมเลย การจะรู้ที่มาของส่วนผสมแบบอื่นๆ ในสกินแคร์ก็ยากว่าเขาเอามาจากไหนก็ยากไม่ต่างกัน

 

ดังนั้น ChoiceChecker แนะนำว่า ความชื่นชอบ + ความเชื่อมั่น + งบประมาณ’ 3 ปัจจัยนี้จะเป็นตัวตัดสินว่าเราควรเลือกสกินแคร์ตัวไหน ส่วนเรื่องจะดี-ไม่ดี... จะแพ้มั้ย... เราแนะนำให้ลองใช้ด้วยตัวเองชัวร์สุด เพราะผิวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยีน กรรมพันธุ์ ไลฟสไตล์ต่าง ผลลัพธ์ก็ต่างกันไป 

 

ส่วนเรื่องปลอดภัยรึเปล่า? ให้เช็คจากความน่าเชื่อถือ พวกแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เค้าอยู่มาได้ก็ด้วยความรับผิดชอบในคุณภาพนี่แหละ นอกจากนั้นก็ดูรีวิวจากคนที่เคยใช้ หรือง่ายกว่านั้น ดูจากบลอกเกอร์ตัวแทนสภาพผิวต่างๆ ของ ChoiceChecker ก็ได้น้าาา รับรองว่าลองใช้จริงไม่มั่ว 

 

👩‍⚕️คอนเทนต์นี้จัดทำโดยเภสัชกรวิชาชีพประจำ ChoiceChecker👩‍⚕️



Reference


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น


น่าสนใจค่ะ
13/08/2023 01:55
ดูน่าสนใจ แปลกใหม่ดีค่ะ
16/07/2023 06:55
ขอบคุณข้อมูลดีๆแบบนี้นะคะ
14/03/2023 11:09
ขอบคุณที่มาแชร์กันค่า
12/02/2023 06:43
ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ
19/08/2022 15:43
น่าสนใจดีมาก
07/06/2022 02:10
ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ
17/03/2022 09:22
ความรู้ใหม่เลยค่ะ ปดติจะได้ยินแค่อยู่ในนมเปรี้ยว
16/03/2022 07:30